นโยบายอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงพลังงานไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับเนื่องจากมีจำนวนประชากรมากขึ้นและการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันปัญหาภาวะโลกร้อน ได้ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก นำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นทุกขณะ หลายภาคส่วนได้ร่วมกันแสวงหามาตรการและวิธีดำเนินการ เพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างจริงจัง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มีความมุ่งมั่นในการสร้างจิตสำนึกพื้นฐานของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาต่างๆของประเทศในอนาคต จึงได้พิจารณาส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานทั้งภายในอาคารสำนักงาน สภาพแวดล้อมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านบวกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จึงกำหนดนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ดังนี้
- มหาวิทยาลัยฯ จะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการจัดการพลังงานอย่างจริงจัง และจะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องให้เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินงานทั้งทางด้านเทคโนโลยี และแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สากลยอมรับ
- มหาวิทยาลัยฯ จะกำหนดแผนและเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัยฯ ในแต่ละปี สื่อสารให้บุคลากรทุกคนเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
- มหาวิทยาลัยฯ จะกำหนดให้มีการตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงาน รวมทั้งการทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน อย่างน้อยปีละครั้งตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติสอดคล้องและครบถ้วนตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
- มหาวิทยาลัยฯ ถือว่าการอนุรักษ์พลังงานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหาร บุคลากร เจ้าหน้าที่ ทุกระดับ รวมถึงนักศึกษา ที่จะต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ติดตามตรวจสอบ และรายงานต่อคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
- มหาวิทยาลัยฯ จะให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานอนุรักษ์และจัดการพลังงานมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงบุคลากร งบประมาณ เวลาในการทำงาน รวมทั้งการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแก่บุคลากร และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกคนในการเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานอนุรักษ์และจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- ผู้บริหารและคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานจะทบทวนและปรับปรุงนโยบาย เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานด้านพลังงานเป็นประจำทุกปี
- คณะทำงานจะจัดทำรายงานการจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยเสนอต่อผู้บริหาร และเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นประจำทุกปี
- มหาวิทยาลัยฯ จะส่งเสริมและผลักดันให้ทุกหน่วยงาน มีอำนาจควบคุมปฏิบัติตามนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องและแนวปฏิบัติที่ดีในการอนุรักษ์และจัดการพลังงาน
คณะทำงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน เพื่อให้การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และจัดการพลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการพลังงานในอาคารควบคุม และนโยบายการอนุรักษ์พลังงานของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
คณะทำงานด้านการจัดการพลังงานที่ได้รับการแต่งตั้งประกอบด้วย
รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดีด้านพลังงาน ผู้ช่วยอธิการบดีด้านประชาสัมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการทั่วไปของแต่ละคณะ ผู้ช่วยคณบดี ผู้อำนวยการกองกลาง ผู้แทนสายงานด้านบริหารสินทรัพย์ ผู้แทนสายงานการเงิน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานสามัญ(ผชอ.) ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานอาวุโส(ผอส.) ผู้ตรวจประเมินด้านพลังงาน หัวหน้างานด้านการอาคารสถานที่ หัวหน้างานด้านพลังงานเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้
- ดำเนินการจัดการพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและวิธีจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- ประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปฏิบัติตามนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและวิธีการจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยฯ
- เสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณากำหนดเป้าหมาย แผนอนุรักษ์พลังงาน วิธีการจัดการพลังงาน แผนการฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกแก่บุคลากรให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้พลังงาน
- ดำเนินการตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน จัดการฝึกอบรมหรือกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอันจะนำไปสู่การปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างครบถ้วน
- ควบคุมดูแลให้มีการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งควบคุม ตรวจ ติดตามและประเมินการจัดการพลังงาน รวมถึงการทบทวน วิเคราะห์ และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงานอย่างน้อยปีละครั้งตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
- ดำเนินการสื่อสารให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบอย่างทั่วถึง เกี่ยวกับเป้าหมาย แผนอนุรักษ์พลังงาน วิธีการจัดการพลังงาน ผลการดำเนินงานการอนุรักษ์และจัดการพลังงาน ผลการประชุม และผลการทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน
- เสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดหรือทบทวนนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน และวิธีการจัดการพลังงาน ให้ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยฯ พิจารณา เป็นประจำทุกปี
- ส่งเสริมและผลักดันให้ทุกหน่วยงาน มีอำนาจควบคุมปฏิบัติตามนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องและแนวปฏิบัติที่ดีในการอนุรักษ์และจัดการพลังงาน
- จัดทำรายงานการจัดการพลังงาน และรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยฯ เสนอผู้บริหารระดับสูง และนำส่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นประจำทุกปี
มาตรการด้านพลังงานไฟฟ้า
เพื่อให้การประหยัดพลังงานประสบผลสำเร็จ มหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดมาตรการออกมา เพื่อเป็นแนวทางให้บุคคลากรทุกคนนำไปปฏิบัติเพื่อประหยัดพลังงานภายในมหาวิทยาลัย เป็นประจำทุกวัน ดังนี้
- ปิดไฟฟ้า 1 ดวง หรือ ถอดหลอดไฟที่ไม่ใช้ออก
- ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25-27 องศา จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 10-20% และปิดก่อนเลิกใช้ 30 นาที หรือลดเวลาการเปิดแอร์ 30 นาที สามารถลดใช้พลังงานได้ 6%
- กำหนดระยะเวลาทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับสถานที่ตั้งและการใช้งาน
- สำรวจใช้หลอดไฟฟ้าแสงสว่างว่ามีการเปลี่ยนเป็นหลอด แอลอีดี แล้วหรือยัง รายงานกลับส่วนกลางเพื่อตั้งงบประมาณดำเนินการ
- ตั้งตู้เย็นห่างผนัง 15 เซนติเมตร จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 10%
- เสียบปลั๊กกระติกน้ำร้อนเมื่อใช้เท่านั้นหากเลิกใช้งานให้ถอดปลั๊กทันที
- ปิดจอคอมพิวเตอร์เมื่อไม่ใช้งานหรือตั้งค่าให้ดับเมื่อไม่ใช้งานเป็นเวลานาน
- ขึ้นลงชั้นเดียวหรือสองชั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ลิฟท์ จำไว้เสมอว่าการกดลิฟท์แต่ละครั้ง สูญเสียพลังงานถึง 7 บาท
มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
มหาวิทยาลัยรณรงค์กับพนักงานขับรถและบุคคลากรที่ดูแลเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประจำอาคารสูงให้ตระหนักถึงการใช้น้ำมันเชื่อเพลิงดังนี้
- ขับรถในความเร็วที่กฎหมายกำหนด หากขับรถด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. แทนการขับรถด้วยความเร็ว 110 กม./ชม. จะเพิ่มความปลอดภัยและจะประหยัดน้ำมันได้ 25% คิดเป็นเงิน 800 บาทต่อเดือนต่อคัน หรือ 9,600 บาทต่อปีต่อคัน
- หมั่นตรวจเช็คสภาพรถเป็นประจำ สามารถประหยัดน้ำมันได้ 10% คิดเป็นเงินที่ ประหยัดได้ 250 บาทต่อเดือนต่อคัน คิดเป็นจะประหยัดได้ถึงปีละ 3,000 บาท
- เติมลมยางไม่ขาดไม่เกิน ตรวจเช็คความดันลมยางสม่ำเสมอทุกครั้งก่อนออกเดินทาง หรือทุกๆระยะทาง 500 กิโลเมตร เพราะหากความดันลมยางต่ำกว่ามาตรฐานทุกๆ 1 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว จะสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มร้อยละ 2
- หมั่นทำความสะอาดไส้กรองอากาศ ควรทำความสะอาดไส้กรองอากาศทุกๆ 2-4 สัปดาห์ หรือทุกๆ 2,500 กิโลเมตร เพราะถ้าไส้กรองไม่สะอาดแล้วจะทำให้รถยนต์กินน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
- ไม่ขับก็ดับเครื่อง ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อต้องจอดรถเป็นเวลานาน เพราะการติดเครื่องยนต์จอดรถเป็นเวลาเพียง 10 นาที จะเสียน้ำมันไปฟรีๆ 200-400 ซีซี หรือเสียเงินราว 3.35-7.75 บาท
มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
1. มีการบริหารการจัดการระบบน้ำและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยใช้เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศ นำข้อมูล แสดงผล ติดตาม ตรวจสอบ
2. ส่งเสริมให้มีระบบการจัดการขยะ
2.1 รณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะ ทิ้งขยะอย่างถูกวิธี เช่น ขยะย่อยสลาย ขยะรีไซเคิ้ล ขยะไม่มีพิษย่อยยากโฟมฟอล์ย ขยะอันตราย
2.2 ส่งเสริมให้มีการจัดการขยะภายหลังจากการคัดแยก
3. อย่าใช้กระดาษหน้าเดียวทิ้ง ให้ใช้กระดาษอย่างคุ้มค่าใช้ทั้งสองหน้า ให้นึกเสมอว่า กระดาษแต่ละแผ่นย่อมหมายถึงต้นไม้หนึ่งต้นที่ต้องเสียไป
4. หลีกเลี่ยงการใช้จานกระดาษ แก้วน้ำกระดาษ เวลาจัดงานสังสรรค์ต่างๆ เพราะสิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต
5. ส่งเสริมให้มีพื้นที่สีเขียวและปลูกไม้ยืนต้นภายนอกอาคาร
6. ส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งและสาธารณะใช้การเดินเพื่ออกกำลังกายหรือจักรยานภายในมหาวิทยาลัยแทนการใช้รถยนต์
7. รณรงค์ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก กระดาษ โฟม ผลิตภัณฑ์ ที่มีบรรจุภัณฑ์ที่ยากต่อการทำลาย ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuse) หรือนำไปผ่านกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ได้ (Recycle)
8. จัดการระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ทำไมต้องกรีน
ปัจจุบันเราตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตประจำวันแบบไม่ค่อยตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากนัก ไม่ได้ตำหนินะครับ แต่สังเกตจากการเลือกซื้อสินค้ากันที่ราคา ราคายิ่งถูกยิ่งน่าซื้อ ทำให้ผู้ผลิตจำนวนมากใช้กลยุทธ์ลดราคาต้นทุนโดยใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เมื่อสินค้าเหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน (อายุการใช้งานมักจะสั้น) ท้ายที่สุดแล้วผลร้ายจะตกอยู่ที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ออกไปเป็นวงกว้าง และหากประเมินมูลค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาแล้วจนถึงปัจจุบัน อาจไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายที่เป็นตัวเงินได้เสียด้วยซ้ำ เพราะมันมหาศาลมาก โดยตั้งแต่เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ทุกประเทศต่างมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง ทำให้ราคาสินค้าเริ่มถูกลงเนื่องด้วยสามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละปริมาณมากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่นักพัฒนาและผู้บริโภคทั้งหลายมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิงคือ การพัฒนานั้นมาพร้อมกับการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมหาศาล สร้างความเสียหายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก เกิดน้ำเสีย ขยะ และสารพิษรั่วไหลสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เกิดมลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง ปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศมีระดับเข้มข้นสูงสุดในรอบ 8 แสนปี และเริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้นดังจะเห็นจากสภาวะอากาศที่แปรปรวน ภัยธรรมชาติต่างๆ กระทบทั่วโลก ผลกระทบเหล่านี้ที่ผ่านมาจะมีใครเคยรับผิดชอบหรือไม่ หรือเราจะปล่อยให้โลกของเราถูกทำร้ายต่อไปแบบนี้ จนท้ายที่สุดแล้วสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกนี้ รวมทั้งมนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้และสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปในที่สุด
จะดีกว่าไหม ?
ถ้าเรายอมที่จะสละเวลาเพิ่มขึ้นอีกสักนิด เพื่อศึกษาการดำเนินชีวิตเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้ชีวิตแบบปรกติทั่วไป ซึ่งทำให้เราไม่ต้องกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะได้คิดแล้วว่า วงจรชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่ เช้าตื่นนอน จนถึง เช้าของอีกวันหนึ่ง ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเรา ลูกหลานของเรา และโลกที่เราอาศัยนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วเราก็ยังจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของเราในด้านอื่นๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอยู่ดี เพราะอย่าลืมว่าทุก ๆ กิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวันล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
แล้วทำไมต้องกรีนยูด้วย
ความท้าทายในอนาคตที่มีต่ออารยธรรมมีทั้งความกดดันในเรื่องประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางพลังงาน ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าจะมีงานวิจัยวิทยาศาสตร์และการอภิปรายสาธารณะมากมาย รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญวาระด้านความยั่งยืนเท่าใดนัก มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียจึงได้เล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ มีข้อได้เปรียบที่จะช่วยส่งเสริมความคิดของคนส่วนใหญ่ในประเด็นหลักๆ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติขึ้นจริงได้ ซึ่งรวมถึงแนวคิดอย่าง Triple Bottom Line, หลักสามประการเพื่อความยั่งยืน (the 3 Es อันได้แก่ ความเที่ยงธรรม (Equity) ความประหยัด (Economy) สิ่งแวดล้อม (Environment))อาคารสีเขียว (Green Building) และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development – ESD)
มหาวิทยาลัยเราจะทำอะไร ?
สถานการณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเกิดความเสื่อมโทรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่สีเขียวไปสู่การพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างที่อยู่อาศัย สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ปัจจุบันกระแสการตื่นตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ได้กลายเป็นประเด็นกดดันของสังคมโลก มีผลให้องค์กรต่าง ๆ ต้องดำเนินกิจกรรมภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาส่วนต่าง ๆ ไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจะต้องให้ความสำคัญ และรณรงค์สร้างความร่วมมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง สำหรับสถาบันการศึกษาการกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาช่วยลดผลกระทบจากการพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นสถาบันซึ่งมีกิจกรรมการดำเนินการหลัก คือ กระบวนการจัดการศึกษา อันประกอบด้วยการดำเนินการย่อยต่างๆ เช่น การดำเนินการเรียนการสอน การวิจัย การสนับสนุนทางห้องปฏิบัติการ การสนับสนุนทางบริการการศึกษา การดำเนินงานด้านอาคารสถานที่และการใช้สื่อโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ภายใต้การดำเนินการดังกล่าวย่อมมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานในองค์กร เช่น การใช้กระดาษ วัสดุสารเคมีวัสดุสานักงาน การใช้พลังงานในรูปไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ตลอดจนการใช้น้ำ เป็นต้น การบริหารจัดการศึกษาในเชิงรุกอันนำสู่มหาวิทยาลัยที่มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะเป็นการบริหารจัดการศึกษาที่คำนึงถึงการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพแล้ว การบริหารจัดการที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกมหาวิทยาลัยควรพัฒนาตนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือมหาวิทยาลัยสีเขียว (green university)ได้ โดยหลายมหาวิทยาลัยได้มีการปรับใช้เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสถาบันของตน มหาวิทยาลัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างเข้มข้น และนำไปสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก
การจัดลำดับดูจากอะไรบ้าง
ในแต่ละปีก็จะมีการปรับปรุงพัฒนาคำถามเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับพื้นที่ป่า พื้นที่ปลูกพืชและพื้นที่ดูดซับน้ำภายในมหาวิทยาลัย การใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การเพิ่มอาคารอัจฉริยะ สัดส่วนของพลังงานทดแทนกับการใช้พลังงานทั้งหมด ต่อปี อาคารเขียว การลดก๊าซเรือนกระจก การประเมินด้านของเสีย ขยะ น้ำ สัดส่วนพื้นที่จอดรถ ภายในมหาวิทยาลัย การลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวภายในมหาวิทยาลัย การลดพื้นที่ จอดรถ การมีระบบขนส่งสาธารณะ การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์จากยานพาหนะ (Zero Emission Vehicles) นโยบายการใช้จักรยานเป็น Zero Emission Vehicles ทางด้านการศึกษามีการเพิ่มเรื่องรายงานความยั่งยืน และโครงการต่างๆ เกี่ยวกับกรีนยู สำหรับปีนี้จะมีเรื่องการเรียนการสอน กับ โรคระบาดโควิด 19 รวมอยู่ด้วย
เกณฑ์และตัวชี้วัด 10,000 คะแนน
1. สถานที่และโครงสร้างพื้นฐาน (SI) ====>15% = 1,500 คะแนน
2. พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (EC) ====>21% = 2,100 คะแนน
3 ของเสีย (WC) ====>18% = 1,800 คะแนน
4. น้ำ (WR) ====> 10% = 1,000 คะแนน
5 การขนส่ง (TR) ====> 18% = 1,800 คะแนน
6 การศึกษาและวิจัย (ED) ====> 18% = 1,800 คะแนน
Position us 2,275 คะแนน
1. สถานที่และโครงสร้างพื้นฐาน (SI) ====>1.5% = 150 คะแนน
2. พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (EC) ====>7.5% = 750 คะแนน
3 ของเสีย (WC) ====>3% = 300 คะแนน
4. น้ำ (WR) ====> 0% = 000 คะแนน
5 การขนส่ง (TR) ====> 5.25% = 525 คะแนน
6 การศึกษาและวิจัย (ED) ====> 5.75% = 575 คะแนน
1. สถานที่และโครงสร้างพื้นฐาน (Setting & Infarstructuer) 575/1500 คะแนน
SI 1 สัดส่วนของพื้นที่เปิดโล่งต่อพื้นที่ทั้งหมด 75/300 คะแนน
SI 2 พื้นที่ปกคลุมด้วยพรรณไม้ป่า 0/200 คะแนน
SI 3 พื้นที่ปกคลุมด้วยพืชปลูก 225/300 คะแนน
SI 4 พื้นที่ดูดซับน้ำ(ยกเว้นพื้นที่ป่าและพืชปลูก) 200/200 คะแนน
SI 5 สัดส่วนพื้นที่ว่างต่อประชากรทั้งหมด 75/300 คะแนน
SI 6 ร้อยละของงบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนความยั่งยืน 0/200 คะแนน
2. พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 425/2100 คะแนน
(Energy & Climate chang)
EC 1 การใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน 50/200 คะแนน
EC 2 การดำเนินงานโครงการอาคารอัจฉริยะ 0/300 คะแนน
EC 3 จำนวนแหล่งพลังงานทดแทนที่ผลิตได้ 75/300 คะแนน
EC 4 สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดต่อประชากร (kWh/คน) 225/300 คะแนน
EC 5 สัดส่วนพลังงานทดแทนที่ผลิตได้ต่อการใช้พลังงานทั้งหมดต่อปี 0/200 คะแนน
EC 6 อาคารสีเขียวตามนโยบายการก่อสร้างและปรับปรุงทั้งหมด 75/300 คะแนน
EC 7 โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0/200 คะแนน
EC 8 สัดส่วนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อจานวนประชากรทั้งหมด 0/300 คะแนน
3. ของเสีย (Wastes) 225/1800 คะแนน
WS 1 โครงการนำของเสียในมหาวิทยาลัยกลับมาใช้ 0/300 คะแนน
WS 2 โครงการลดการใช้กระดาษและพลาสติกในวิทยาเขต 75/300 คะแนน
WS 3 การจัดการของเสียอินทรีย์ 0/300 คะแนน
WS 4 การบำบัดของเสียอนินทรีย์ 75/300 คะแนน
WS 5 การบำบัดของเสียเป็นพิษ 0/300 คะแนน
WS 6 การบำบัดน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล 75/300 คะแนน
4. น้ำ (Water) 0/1000 คะแนน
WR 1 โครงการอนุรักษ์น้ำ 0/300 คะแนน
WR 2 โครงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม 0/300 คะแนน
WR 3 การใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ 0/200 คะแนน
WR 4 การใช้น้ำที่บำบัดแล้ว 0/200 คะแนน
5. การขนส่ง (Transportation) 525/1800 คะแนน
TR 1 สัดส่วนของยานพาหนะ (รถยนต์และรถจักรยานยนต์) ต่อจำนวน 100/200 คะแนน
ประชากรทั้งหมด
TR 2 บริการรับส่งสาธารณะ 0/300 คะแนน
TR 3 นโยบาย/มาตรการมลพิษเป็นศูนย์(จากยานพาหนะ) 200/200 คะแนน
TR 4 จำนวน zero emission vehicles/จำนวนประชากรทั้งหมด 100/200 คะแนน
TR 5 สัดส่วนพื้นที่จอดรถ/พื้นที่ของมหาวิทยาลัย 50/200 คะแนน
TR 6 โครงการเพื่อลดพื้นที่จอดรถในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2017-2019) 0/200 คะแนน
TR 7 จำนวนความคิดริเริ่มที่จะลดยานพาหนะส่วนตัวในมหาวิทยาลัย 0/200 คะแนน
TR 8 ทางเดินเท้าภายมหาวิทยาลัย 75/300 คะแนน
6. การศึกษาและวิจัย (Education and Research) 575/1800 คะแนน
ED 1 สัดส่วนของรายวิชาเกี่ยวกับความยั่งยืนต่อจำนวนรายวิชาทั้งหมด 150/300 คะแนน
ED 2 สัดส่วนของทุนวิจัยด้านความยั่งยืนต่อทุนวิจัยทั้งหมด 75/300 คะแนน
ED 3 จำนวนผลงานวิชาการ/การตีพิมพ์ด้านความยั่งยืน 75/300 คะแนน
ED 4 จำนวนกิจกรรมด้านความยั่งยืน 75/300 คะแนน
ED 5 จำนวนองค์กรนักศึกษาที่เกี่ยวกับความยั่งยืน 75/300 คะแนน
ED 6 เว็บไซต์ด้านความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย 100/200 คะแนน
ED 7 รายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน 25/100 คะแนน