ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน
ในระบบโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านที่เห็นทั่วไปนั้น มีอยู่ 2 ระบบใหญ่ๆ คือ Ongrid System กับ Hybrid System
ระบบโซลาร์แบบออนกริด (Ongrid Solar System) เป็นระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของ การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยสัดส่วนขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต และจำนวนโหลดเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้ในบ้าน
ส่วน ระบบโซลาร์แบบไฮบริด (Hybrid Solar System) พัฒนาขึ้นมาจากระบบออนกริดโดยแก้ไขข้อด้อยที่ไม่สามารถจ่ายไฟในเวลากลางคืน และต้องหยุดการทำงานขณะที่ไฟฟ้าดับ นั่นคือสามารถทำงานได้ในขณะที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แก้ปัญหาไฟดับ-ไฟตก
แต่ด้วยความยุ่งยากของกฏหมาย ที่กำหนดให้การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ทั้งแบบ ออนกริด และ ไฮบริด ต้องขออนุญาตจากหน่วยงาน ของภาครัฐ ถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กระทรวงพลังงาน
2.การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน . ) และ 3.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึง หน่วยงาน สำนักงานเขต/อำเภอ/ หน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.
เมื่อประชาชนต้องแจ้งถึง 3 หน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ไม่มีใครอยากดำเนินการ ที่สำคัญ ยังมีกฎกระทรวงมหาดไทย ยิ่งทำให้วุ่นวายเข้าไปอีก เพราะกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน จะต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ที่จัดทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา จากนั้นให้แจ้งต่อเทศบาลท้องถิ่น ให้ทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ลงนามโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 65 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยปัญหาที่ตามมา นั่นคือ ประชาชน ต้องจ่ายเงินเป็นค่าวิศวกร รับรองแบบ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจดแจ้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ. 2566 ) เงื่อนไขที่สร้างภาระให้กับประชาชน ยังคงอยู่ โดยไม่มีมาตรการใดๆ จากรัฐบาลมาอุดหนุน หรือเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า